แหล่งท่องเที่ยว / สถานที่สำคัญ




1.วัดอักโขชัยคีรี


               วัดอักโขชัยคีรีซึ่งมีชื่อเสียง ในด้านเงาพระธาตุ อันมหัศจรรย์ และประวัติความเป็นมาของเจ้าพ่อพญาคำลือซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างบ้านแปลงเมืองและบูรณะวัดอักโขชัยคีรีเป็นวัดประจำเมืองวิเชตนคร
               วัดอักโขชัยคีรี ตั้งอยู่บนเนินเขาริมทางหลวงหมายเลข ๑๐๓๕ สายลำปาง-แจ้ห่ม บริเวณกิโลเมตรที่ ๕๐-๕๑ ด้านซ้ายมือ มีทางขึ้น ๒ ทาง คือ ทางเดินขึ้นบันไดด้านหน้าหรือขับรถขึ้นทางถนนด้านหลัง โบสถ์และเจดีย์เป็นแบบล้านนาอยู่ใกล้เคียงกัน ที่วัดนี้มีปรากฏการณ์เงาสะท้อนพระเจดีย์เป็นภาพสีเช่นเดียวกับวัดพระธาตุจอมปิงเงาพระเจดีย์จะปรากฏอยู่ตรงที่เดิมไม่เคลื่อนย้ายตลอดทั้งวัน ตราบเท่าที่ยังมีแสงสว่าง นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่เรียกว่า “พระศากยมุณีคีรีอักโข” ซึ่งมีความสูง ๕ วา ๒ ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ เป็นที่นับถือของชาวแจ้ห่มมาก โบสถ์เปิดเวลา ๐๗.๐๐-๑๗.๐๐ น. หากใครสนใจงานศิลปะท้องถิ่นมีสัตภัณฑ์ไม้ไผ่พุทธศตวรรษที่ ๒๕ สำหรับจุดเทียนบูชาพระประธานและธรรมมาสน์ไม้ไผ่ศิลปะล้านนา สามารถชมได้ที่ด้านหลังโบสถ์

 

2. อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ


     

               เป็นที่ประดิษฐสถานอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ ซึ่งเป็นอุปราชใหญ่ได้ครองเมืองวิเชตนครตั้งแต่ปี พ.ศ. 1897 และเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะกราบไหว้บูชาของประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ที่ได้มาแวะเยี่ยมเยือนอำเภอแจ้ห่ม

               ประวัติความเป็นมา
               เจ้าพ่อพญาคำลือเป็นโอรสของท้าวพญาคำแดง ในราชวงศ์โยนกนาคนคร เป็นราชนัดดาในของพญางำเมือง (ปู่) แห่งเมืองพะเยามี พระมารดา ชื่อพระนางอินเหลาแห่งเวียงเปียงดาว (เชียงดาว) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เจ้าแสนภู ผู้ครองเวียงระมิงค์ สืบเชื้อสายราชวงศ์เชียงแสน เป็นผู้สร้างเมืองสยมภูนครินทร์คือแจ้ซ้อนเมืองปานและห้างฉัตรในปัจจุบัน)ได้มอบให้ท่านท้าวพญาคำแดงครองเมืองสยมภูนครินทร์ภายหลัง พญาคำแดงทรงเลี่ยงเมืองติดตามพระนางอินเหลาไปยังเชียงดาวและมอบให้ขุนเจื่องครองเมืองสยมภูนครินทร์แทน ส่วนเจ้าพ่อพญาคำลือราชนัดดาซึ่งเป็นอุปราชใหญ่ ครองเมืองวิเชตนครสืบมา เจ้าพ่อพญาคำลือผู้เป็นอุปราชใหญ่ได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองวิเชตนคร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๖๑ (คือแจ้ห่มปัจจุบัน) ท่านมีสายเลือกนักรบเต็มตัวอันสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เชียงแสน เจ้าพ่อพญาคำลือนั้นมีเจ้าสุดใจเป็นคู่ชีวิต แต่ไม่มีบุตรด้วยกันต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๘๑ พวกเงี้ยวตั้งตนเป็นใหญ่ในดินแดนภาคเหนือโดยมีเจ้าคำฟู พญากาวน่าน ยกทัพมาตีขนาบเมืองใหญ่น้อย ได้แผ่อำนาจมาถึง เมืองพะเยา เจ้าพ่อพญาคำลือจึงต้องยกทัพไปช่วยปราบปราม โดยมีเจ้านายฝ่ายเหนือมาร่วมรบในครั้งนั้นอาทิเช่น พญาวังอำเภอวังเหนือ)เมืองลานช้าง เวียงระมิงค์ เขลางค์นคร เวียงโกศัย (เมืองแพร่) พิษณุโลก (เมืองโอฆะบุรี) อุตรดิตถ์ (เมืองทุ่งยั้ง) เมืองพิชัย เป็นต้น รบกันนานถึง 2 เดือน จึงได้ชัยชนะ ในที่สุดพวกเงี้ยวต้องถอยร่นกลับไปแค้วนสิบสองปันนา กาลต่อมาศึกพม่ากับ เวียงพิงค์ได้อุบัติขึ้นอีก พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองสยมภูนครินท์ เมืองนี้จึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า นานถึง ๑๐ ปี พม่าได้พยายามที่จะยกทัพมาตีเอาวิเชตนคร ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของหัวเมือง สยามภูนครินทร์ แต่ก็ไม่สามารถตีเอาเมืองนี้ไปได้ ทั้งนี้เพราะพระปรีชาสามารถของเจ้าพ่อพญาคำลือที่ต่อสู้รักษาเมืองไว้อย่างแข็งขัน ประกอบกับ เมืองวิเชตนครเป็นเมืองที่ราบลุ่มมีภูเขาล้อมรอบ นับว่าเป็นชัยภูมิที่ดี เมื่อข้าศึกยกทัพมาก็จะทราบล่วงหน้าก่อนทุกครั้งไป จึงสามารถเตรียมกำลังให้ พร้อมรบอยู่ตลอดเวลา พวกพม่าจึงไม่อาจตีเอาเมืองวิเชตนครได้ ต่อมาเจ้าพ่อพญาคำลือ ได้ร่วมกับเจ้าเมืองฝ่ายเหนือยกทัพไปตีพม่า กองทัพพม่าแตกกระจายถอยร่นกลับไป จึงได้ชิงเอาเมืองสยมภูนครินทร์คืนมาได้ ในชีวิตเจ้าพ่อพญาคำลือต้องรบเพื่อปกป้องเมือง ให้พ้นจากอิทธิพลการแย่งชิง ของข้าศึก ยามรบก็รบด้วยความแกล้วกล้าสุดชีวิต ยามสงบก็ปกครองเมืองให้เป็นสุขด้วยความรักและเมตตา เจ้าพ่อพญาคำลือจึงเป็นที่เคารพรักบูชาของชาวเมืองดุจพ่อเจ้า เจ้าพ่อพญาคำลือใฝ่ใจในธรรมยิ่งนักยามสงบก็ทำนุบำรุงวัดวาอารามหลายแห่งโดยเฉพาะวัดพระธาตุดอยภูซาง วัดผาแดงหลวงและวัดอักโขชัยคีรีที่ประดิษฐานพระธาตุ อันศักดิ์สิทธิ์เจ้าพ่อจะบูรณะให้ดูเด่นเป็นสง่าคู่เมืองวิเชตนคร ตลอดมา เมื่อท่านได้สิ้นชีพตักษัยไปแล้วชาวเมืองจึงได้ร่วม ใจกันสร้างศาลไว้ ณ ที่คุ้มเก่าและดั้งเดิมที่สถานีตำรวจภูธรแจ้ห่ม และสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือไว้ที่เชิงดอยวัดอักโขคีรี ให้อยู่คู่วิเชตนคร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และเป็นที่เคารพสักการบูชา เพื่อแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน เพราะท่านก็เป็นองค์หนึ่งใน สยามเทวาธิราชเหมือนกัน เมืองที่มีความสัมพันธ์กับวิเชตนครได้แก่ เมืองวังเฮือ (อำเภอวังเหนือ) เมืองลานช้าง เวียงพิงค์ พะเยา เมืองเชียงราย เขลางค์นคร เวียงโกศัย (แพร่) สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เมืองพิชัย

 

3. วัดพระพุทธบาทสุทธาวาส (ชื่อเดิมวัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง/วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์)


   

               ตามประวัติ “ดอยปู่ยักษ์” หรือดอยพระบาทปู่ผาแดง ได้มีพระพุทธบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จารึกไว้บนแผ่นหิน ขนาดใหญ่ นอกจากนี้พื้นบริเวณวัดแห่งนี้ ยังมีถ้ำหลายแห่ง เช่น ถ้ำผาสวรรค์ ปล่องลมมหัศจรรย์ มีลายหินงามเตาหินปูนแบบโบราณ และบริเวณเดียวกันยังมีเมืองโบราณ นามว่า “เมืองวิเชตนคร” อยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งในปัจจุบัน กำลังปรับปรุงบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตอันใกล้
               ย้อนไปก่อนที่จะมีการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติและถนน ประชาชนที่ความศรัทธา ต่างขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทด้วยความยากบำบาก จนกระทั่งมีการสร้างวัดขึ้น ณ ยอดเขาแห่งนี้ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชสมภพครบ 200 ปี ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมา ทางคณะสงฆ์ได้มีมติให้สร้างวัดเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน 2 แห่ง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชน ชาวไทย คือ วัดพระมหาธาตุ ที่กรุงเทพมหานคร และวัดพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
               ภายในบริเวณวัดจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ หรือ 3 ชั้นก็ว่าได้ สำหรับชั้นแรก เป็นที่ตั้งของตัววัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง หรือที่บางคนเรียกกันง่ายๆ ว่า “วัดล่าง” บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของอุโบสถและเจดีย์ เราสามารถเข้าไปกราบพระพุทธรูปภายในอุโบสถที่จำลองมาจากพระนิรันตราย ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 4 องค์หนึ่ง ส่วนตัวอุโบสถมีลักษณะเหมือนวัดทางล้านนา มีหลังคาลดหลั่นสองชั้น และมีสิงห์คู่ยืนเฝ้าอยู่บริเวณทางเข้าสู่ลานอุโบสถ
 

4. หนองปึ๋ง



               ทุ่งหนองปึ๋ง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 11 บ้านทุ่งวิเชต ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดทั้งปี มีทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นธรรมชาติ