อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลวิเชตนคร



             องค์การบริหารส่วนตำบลวิเชตนครเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามการจัดแบ่งส่วนาชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกำหนดให้มีหน้าที่ ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนาธรรมและหน้าที่อื่นตามกฎหมายกำหนดและนับแต่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณากำหนดและ นับแต่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นต้น มาบทบาทอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์การบริหาร ส่วนตำบลได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลังและมีอำนวจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติให้องค์กรรับผิดชอบในการจัดทำแผนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้บริหารสาธารณะ ที่จำเป็นแก่ท้องถิ่นตลอดจนรายได้ของท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดรูปแบบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น นอกจากกฎหมายทั้งสองฉบับแล้วยังมีกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
             * พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542
             * พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542
             * พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
             ทำให้เห็นได้ว่า มีการกำหนดตัวบกกฎหมายและกลไกทางกฎหมาย เพื่อให้การกระจายอำนาจเป็นไปอย่างโปรงใสและสามารถถูกตรวจสอบ จากประชาชน และองค์กรต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
             ดังนั้น ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 องค์การบริหารส่วนตำบลวิเชตนคร จึงมีบทบาทอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวาง โดยมิได้มีหน้าที่เพียงในการ บริการด้านสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังขยายบทบาทหน้าที่ออกไปรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมขององค์การบริหารส่วนตำบลอีกด้วยและเป็นองค์กรที่เปิดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารงานและตรวจสอบการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มมากขึ้น
              อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีดังนี้
                          มาตรา 66 องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
                          มาตรา 67 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปี้
                                       (1) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
                                       (2) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
                                       (3) ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
                                       (4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
                                       (5) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
                                       (6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
                                       (7) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                                       (8) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
                                       (9) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากรให้ตามความจำเป็นและสมควร
                          มาตรา 68 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำกิจการในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้
                                       (1) ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
                                       (2) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
                                       (3) ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
                                       (4) ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
                                       (5) ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์
                                       (6) ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
                                       (7) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
                                       (8) การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน         
                                       (9) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององอ์การบริหารส่วนตำบล
                                       (10) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
                                       11) กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
                                       (12) การท่องเที่ยว
                                       (13) การผังเมือง
                          มาตรา 69 การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐในอันที่จะดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในตำบลต้องแจ้งให้ อบต. ทราบล่วงหน้าตามสมควร หาก อบต. มีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการดังกล่าว ให้นำความเห็นของ อบต. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินกิจการนั้นด้วย
                          มาตรา 69/1 การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ อบต. ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนา อบต. การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงานและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
                          มาตรา 70 มีสิทธิได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของทางราชการในตำบล เว้นแต่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ทางราชการถือว่าเป็นความลับเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
                          มาตรา 71 ออกข้อบัญญัติ อบต. เพื่อใช้บังคับในตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ของ อบต. ในการนี้จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกิน 1,000 บาท เว้นแต่ละมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
                          มาตรา 72 อาจขอให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติกิจการของ อบต. เป็นการชั่วคราวได้โดยไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม
                          มาตรา 73 อาจทำกิจการนอกเขต อบต. หรือร่วมกับสภาตำบล อบต. อบจ. หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น เพื่อกระทำกิจการร่วมกันได้

              อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มีดังนี้
                            มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังนี้
                                       (1) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
                                       (2) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
                                       (3) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
                                       (4) การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่น ๆ
                                       (5) การสาธารณูปการ
                                       (6) การส่งเสริม การฝึก และประกอบอาชีพ
                                       (7) การพาณิชย์ และการส่งเสริมการลงทุน
                                       (8) การส่งเสริมการท่องเที่ยว
                                       (9) การจัดการศึกษา
                                       (10) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
                                       (11) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
                                       (12) การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
                                       (13) การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
                                       (14) การส่งเสริมกีฬา
                                       (15) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
                                       (16) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
                                       (17) การรักษาความสะอาและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
                                       (18) การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
                                       (19) การสาธารณสุข การอนมัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
                                       (20) การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
                                       (21) การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
                                       (22) การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์
                                       (23) การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนมัยโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ
                                       (24) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                                       (25) การผังเมือง
                                       (26) การขนส่งและการวิศวกรรมจราจร
                                       (27) การดูแลรักษาที่สาธารณะ
                                       (28) การควบคุมอาคาร
                                       (29) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
                                       (30) การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
                                       (31) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด